การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณา หรือสิ่งอื่นใดรุกล้ำทางสาธารณะตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 มาตรา 10 กำหนดให้ การโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผนประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ จะกระทําได้ต่อเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสืออนุญาตด้วย ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามมาตรา 56 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558
ข้อ 17 ต้องจัดให้มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างส่องแผ่นป้ายหรือป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเอง แสงสว่างที่ออกจากป้ายจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญบริเวณข้างเคียง และไม่รบกวนการมองเห็นสภาพจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะจนอาจส่งผลต่อการควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะ
ข้อ 23 เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งหรือป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้ายตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ให้มีหน้าที่ดังนี้
(1) ต้องจัดให้มีตัวอักษรแสดงเลขที่ใบรับรองการตรวจสอบ ในกรณีที่ยังไม่มีใบรับรองการตรวจสอบป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้แสดงเลขที่ใบอนุญาตก่อสร้างแทน รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 20 เซนติเมตร แสดงไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนในบริเวณด้านหน้าป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(2) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548
ข้อ 24 ระบุว่า ในกรณีที่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงอันอาจเป็นภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจาของหรือผู้ครอบครองป้ายดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่ง ในกรณีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวได้ทันทีตามวิธีการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด หรือสั่งห้ามมิให้ใช้ป้ายนั้นจนกว่าจะมีการแก้ไข
ทั้งนี้ตามบทเฉพาะกาล ข้อ 27 กำหนดว่า ให้ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครอง หรือเจ้าของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับใบแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือก่อสร้างดัดแปลงแล้วเสร็จไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตามข้อ 23 (1) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ นั้น
**********ทั้งนี้ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเท่านั้น*********************************
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองทุ่ม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม จึงได้จัดช่องทาง สำหรับการแจ้งเบาะแสป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีช่องทางในการแจ้งเบาะแส ดังนี้
1. แจ้งด้วยตนเองได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองทุ่ม
2. ทางโทรศัพท์หมายเลข 043-798028
3. ผ่านทางเว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองทุ่ม
4. Facebook อบต.หนองทุ่ม https://www.facebook.com/profile.php?id=100078131900834
ทั้งนี้ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเท่านั้น
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะซึ่งเป็นมาตรการเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตและกระทำความผิดในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาตรการฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
มาตรการ / สรุปสาระสำคัญ
1) มาตรการระยะเร่งด่วน
1.1) มาตรการทางการบริหาร ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 6 เดือน เช่น
(1) ป้ายโฆษณาทุกประเภทต้องมีเลขทะเบียนควบคุมเป็นระบบเดียว ซึ่งบ่งบอกหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตหรือกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการกำกับดูแล และจัดระเบียบ
(2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแจ้งเบาะแสป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีแนวทางการจัดการที่ชัดเจนและรายงานผลการดำเนินการภายหลัง
1.2) มาตรการทางกฎหมาย ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี เช่น
(1) กำหนดนิยามของคำว่าป้ายโฆษณาให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดลักษณะ รูปแบบ และขนาด ของป้ายโฆษณาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการควบคุมดูแล
(2) กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มของแสงบนป้ายโฆษณาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และ
(3) ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตติดตั้งให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
2) มาตรการระยะยาว
ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยควรจัดให้ความรู้ทางกฎหมายแก่สมาคมโฆษณา หรือสมาคมภาคธุรกิจเอกชนอื่น ๆ ที่มีความประสงค์จะติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และควรรณรงค์ให้เครือข่ายประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ
|